Olav V (1903-1991)

พระเจ้า โอลาฟที่ ๕ (๒๔๔๖-๒๕๓๔)

​​​​​     พระเจ้าโอลาฟที่ ๕ ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒ ของนอร์เวย์นับตั้งแต่นอร์เวย์แยกประเทศออกจากสวีเดนซึ่งเคยรวมอยู่ด้วยกันมาเกือบ ๑๐๐ ปี ( ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๙๐๕) ทรงอยู่ในราชวงศ์ออลเดนบูร์ก (House of Oldenburg) สายกลึคส์บูร์ก (Glücksburg) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ทรงร่วมกับพระราชบิดาและคณะรัฐมนตรีออกไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอนเพื่อเป็นฐานในการต่อต้านนาซีเยอรมันที่เข้าไปยึดครองนอร์เวย์ พระเจ้าโอลาฟที่ ๕ ทรงปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก่อนที่จะขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา ทรงเป็นบุคคลที่ชาวนอร์เวย์ชื่นชมรักใคร่ตั้งแต่เป็นมกุฎราชกุมารและตลอดรัชกาลอันยาวนานกว่า ๓๐ ปี


     พระเจ้าโอลาฟที่ ๕ ประสูติเมื่อวันที่ ๒ กรกฏาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ ที่พระตำหนักแอพเพิลตัน (Appleton House) ใกล้เมืองแซนดริงอัม (Sandringham) ในมณฑลนอร์ฟอล์ก (Norfolk) ประเทศอังกฤษ ทรงมีพระนามว่า อะเล็กซานเดอร์ เอดเวิร์ด คริสเตียน เฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเดนมาร์ก (Alexander Edward Christian Frederik, Prince of Denmark) ทรงเป็นพระโอรสองค์เดียวในเจ้าชายคาร์ล (Carl ค.ศ. ๑๘๗๒-๑๙๕๗) และเจ้าหญิงม้อด (Maud ค.ศ. ๑๘๖๙-๑๙๓๘) ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๗ (Edward VII ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐)* แห่งอังกฤษกับสมเด็จพระราชินีอะเล็กซานดรา (Alexandra) ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหญิงแห่งเดนมาร์กด้วยเหตุนี้สายสัมพันธ์กับพระราชวงศ์อังกฤษจึงแน่นแฟ้นมาก
     ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ มีการยกเลิกการรวมประเทศระหว่างสวีเดนกับนอร์เวย์ซึ่งดำเนินมานานตามพระราชบัญญัติการรวมประเทศ (Act of Union) ค.ศ. ๑๘๑๕ ที่ประกาศใช้ภายหลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* การยกเลิกเป็นไปด้วยความราบรื่นพอควรเพราะทั้ง ๒ ประเทศโดยเฉพาะนอร์เวย์รู้สึกคับข้องใจกับการอยู่ร่วมกันมานานแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงถึงเวลาที่นอร์เวย์จะมีผู้นำของตนเอง เจ้าชายคาร์ลแห่งเดนมาร์กทรงได้รับการเสนอให้เป็นองค์ประมุข แต่ก่อนที่พระองค์จะทรงยอมรับเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ ทรงตั้งเงื่อนไขว่าจะทรงรับก็ต่อเมื่อทรงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวนอร์เวย์ก่อน ดังนั้น ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๐๕ จึงได้มีการจัดให้ลงประชามติว่าชาวนอร์เวย์ต้องการการปกครองแบบใด ผู้มาใช้สิทธิ ๒๕๙,๕๖๓ คน ระบุว่าต้องการระบอบกษัตริย์และ ๑๖๙,๒๖๔ คน เลือกระบอบสาธารณรัฐ จึงเป็นอันว่าชาวนอร์เวย์ส่วนใหญ่เห็นชอบที่จะให้เจ้าชายคาร์ลแห่งเดนมาร์กปกครองประเทศนอร์เวย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าฮากอนที่ ๗ (Haakon VII ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๕๗)* พระองค์เสด็จไปนอร์เวย์เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๕ และทรงประกาศ พระราชปณิธานว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อนอร์เวย์" (Alt for Norge; Everything for Norway) ในปีต่อมาในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๖ พระเจ้าฮากอนที่ ๗ และสมเด็จพระราชินีม้อดก็เข้าพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการที่มหาวิหารนีดาโรส (Nidaros) ในนครทรอนด์เฮม (Trondheim) ซึ่งเป็นนครเก่าแก่ที่กษัตริย์นอร์เวย์องค์ก่อน ๆ หลายองค์ตั้งแต่สมัยกลางทรงประกอบพระราชพิธีสวมมงกุฎและกล่าวปฏิญาณที่แท่นบูชาเซนต์โอลาฟ (St. Olav)
     เมื่อพระราชบิดาทรงขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งนอร์เวย์เจ้าชายอะเล็กซานเดอร์แห่งเดนมาร์กซึ่งยังทรงพระเยาว์มากก็ใช้พระนามว่า เจ้าชายโอลาฟ มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๕ เป็นต้นมาชาวนอร์เวย์โดยทั่วไปแสดงความรักใคร่ "เจ้าชายน้อย" องค์นี้มากเพราะเป็นองค์ทายาทเพียงองค์เดียวของกษัตริย์ของพวกตน มีการแต่งเพลงและโคลงกลอนเกี่ยวกับพระองค์และในโรงเรียนแทบทุกแห่งก็จะประดับพระฉายาลักษณ์ด้วย เจ้าชายโอลาฟทรงได้รับการศึกษาทั้งในนอร์เวย์และที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) ประเทศอังกฤษ ในช่วงที่เป็นมกุฎราชกุมารนี้ทรงเข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีและปฏิบัติพระกรณียกิจที่เป็นทางการต่าง ๆ ทรงเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งด้วย ทรงเชี่ยวชาญด้านการเล่นสกีกระโดดและแล่นเรือใบ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ค.ศ. ๑๙๒๘ เจ้าชายโอลาฟทรงเข้าร่วมแข่งขันกีฬาประเภทเรือใบและได้รับเหรียญทอง ต่อมา ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์ทา ซูฟีอา ลูวิซา ดักมา ทูรา (Märtha Sofia Lovisa Dagma Thyra) พระธิดาในเจ้าชายคาร์ล (Carl) และเจ้าหญิงอิงเกอบอร์ก (Ingeborg) แห่งสวีเดนซึ่งเป็นพระญาติใกล้ชิด ณ มหาวิหารแห่งกรุงออสโล (Oslo) ทรงมีโอรสธิดาด้วยกัน ๓ องค์ คือ เจ้าหญิงรังฮิลด์ อะเล็กซานดรา [ (Ragnhild Alexandra ภาย หลังคือ นางโลเรนท์เซน (Mrs. Lorentzen)] เจ้าหญิงอาสทริด ม้อด อิงเกอบอร์ก [ (Astrid Maud Ingeborg) ภายหลังคือ นางเฟอร์เนอร์ (Mrs. Ferner)] และเจ้าชายฮาราลด์ (Harald)
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เยอรมนีได้เข้ายึดครองประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปอย่างรวดเร็ว จนเหลือแต่เพียงประเทศอังกฤษประเทศเดียวที่สามารถยืนหยัดสู้ต่อไปในยุโรปตะวันตก ก่อนที่ กองทัพนาซีจะเข้ายึดครองนอร์เวย์ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ นั้นเซอร์เซซิล ดอร์เมอร์ (Cecil Dormer) อัครราชทูตอังกฤษประจำนอร์เวย์ได้กราบบังคมทูลชวนพระเจ้าฮากอนที่ ๗ เจ้าชายโอลาฟมกุฎราชกุมาร รวมทั้งคณะรัฐมนตรีทั้งหมดให้หนีไปกับเรือหลวงเดวอนเชียร์ (HMS Devonshire) ในครั้งแรกเจ้าชายโอลาฟทรงอาสาที่จะประทับอยู่กับชาวนอร์เวย์ต่อไปเมื่อทรงทราบว่าคณะรัฐมนตรีตัดสินใจที่จะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น แต่ทรงถูกทัดทานจากหลายฝ่ายเมื่อไปถึงอังกฤษแล้วพระองค์และพระราชบิดาได้ร่วมมือกับคณะรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นแห่งนอร์เวย์ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกับแนวร่วมต่อต้านนาซีเยอรมันในประเทศ ในฐานะมกุฎราชกุมาร เจ้าชายโอลาฟผ่านการฝึกทหารมามากพอควร ทรงได้รับการยกย่องจากผู้นำชาติพันธมิตรต่าง ๆ ว่าทรงมีบุคลิกภาพผู้นำและเป็นผู้รอบรู้ด้านยุทธศาสตร์ ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกลาโหม (Chief of Defence) ของนอร์เวย์ด้วย ระหว่างที่ประทับอยู่ที่อังกฤษกับพระราชบิดานั้น เจ้าหญิงมาร์ทาพระชายาพร้อมกับพระโอรสและพระธิดาเสด็จไปประทับที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. ซึ่งทำให้ทรงมีโอกาสสนิทสนมกับประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt ค.ศ. ๑๘๘๒-๑๙๔๕) แห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่เป็นกลไกสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางของสงครามโลกครั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลนอร์เวย์นั้น ก็ได้มีการเตรียมการอยู่บ้าง โดยมีการนำทองคำสำรองของธนาคารกลางออกนอกประเทศไปก่อนล่วงหน้าแล้ว จึงทำให้มีทุนรอนพอควรที่จะดำเนินการต่อต้านเยอรมนีจากนอกประเทศ อีกทั้งเรือพาณิชย์แทบทั้งหมดของนอร์เวย์ก็แล่นอยู่กลางทะเลลึกแล้วเมื่อกองทัพนาซีเคลื่อนเข้าสู่นอร์เวย์ ด้วยเหตุนี้ฝ่ายพันธมิตรจึงยังมีกองเรือนอร์เวย์ไว้ใช้ประโยชน์ได้
     เมื่อสงครามสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เจ้าชายโอลาฟเสด็จกลับนอร์เวย์ก่อนพระเจ้าฮากอนที่ ๗ และทรงเป็นผู้นำกองทหารนอร์เวย์ปลดอาวุธทหารเยอรมันที่ประจำการอยู่ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นครั้งแรกแต่เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น แต่ได้ทรงทำหน้าที่นี้อีกครั้งอย่างจริงจังใน ค.ศ. ๑๙๕๕ เมื่อพระราชบิดาทรงพระประชวรเนื่องจากทรงประสบอุบัติเหตุ ขณะนั้นเจ้าหญิงมาร์ทาพระชายาก็สิ้นพระชนม์ไปแล้วได้ ๑ ปีในวันที่ ๒๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๕๗ พระเจ้าฮากอนที่ ๗ ก็เสด็จสวรรคต เจ้าชายโอลาฟจึงขึ้นครองราชย์สืบต่อเป็นพระเจ้าโอลาฟที่ ๕
     ตลอดรัชกาลของพระเจ้าโอลาฟที่ ๕ นั้นพระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่กษัตริย์ในระบบรัฐสภาได้อย่างเรียบร้อยและทรงยึดถือพระราชปณิธาน "ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อนอร์เวย์" ตามแนวทางที่พระราชบิดาทรงวางไว้ ชาวนอร์เวย์ชื่นชมในการวางพระองค์อย่างเป็นกันเองกับประชาชน ดังเช่นการเสด็จโดยรถรางร่วมกับประชาชนทั่วไปเพื่อไปทรงเล่นสกีนอกกรุงออสโลในช่วงที่รัฐบาลใช้มาตรการประหยัดน้ำมันยามเกิดวิกฤติโดยห้ามการใช้รถยนต์ในบางเสาร์-อาทิตย์ทำให้ทรงได้ฉายาว่า "กษัตริย์ของประชาชน" (Folkekongen; the People’s king) เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ ๑๗ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ณ พระตำหนักที่คองส์เซเทเริน (Kongsseteren) สิริพระชนมายุ ๘๘ พรรษา ชาวนอร์เวย์แสดงความอาลัยรักด้วยการจุดเทียนหลายแสนเล่ม ณ ลานหน้าพระราชวัง (Royal Castle) ในกรุงออสโลหลายวันก่อนพระราชพิธีฝังพระศพ เจ้าชายฮาราลด์พระราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อโดยมี พระนามว่าพระเจ้าฮาราลด์ที่ ๕ (Harald V) ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีโซเนีย (Sonja) ในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑ ณ มหาวิหารนีดาโรส ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าโอลาฟที่ ๕.



คำตั้ง
Olav V
คำเทียบ
พระเจ้า โอลาฟที่ ๕
คำสำคัญ
- ดอร์เมอร์, เซอร์เซซิล
- เอดเวิร์ดที่ ๗, พระเจ้า
- แอพเพิลตัน, พระตำหนัก
- ฮากอนที่ ๗, พระเจ้า
- อะเล็กซานดรา, สมเด็จพระราชินี
- อะเล็กซานเดอร์ เอดเวิร์ด คริสเตียน เฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเดนมาร์ก
- พระราชบัญญัติการรวมประเทศ
- ม้อด, เจ้าหญิง
- สงครามนโปเลียน
- นีดาโรส, มหาวิหาร
- นอร์ฟอล์ก, มณฑล
- ทรอนด์เฮม, นคร
- คาร์ล, เจ้าชาย
- กลึคส์บูร์ก
- ออลเดนบูร์ก, ราชวงศ์
- โอลาฟที่ ๕, พระเจ้า
- แซนดริงอัม, เมือง
- รูสเวลต์, แฟรงกลิน ดี.
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- อิงเกอบอร์ก, เจ้าหญิง
- มาร์ทา ซูฟีอา ลูวิซา ดักมา ทูรา, เจ้าหญิง
- ออสโล, กรุง
- โซเนีย, สมเด็จพระราชินี
- ฮาราลด์ที่ ๕ , พระเจ้า
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1903-1991
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๔๖-๒๕๓๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf